อีกหนึ่งบทบาทสำคัญในแวดวงตลาดทุน คุณดาว – นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน)(MASTER) โรงพยาบาลด้านศัลยกรรมเสริมความงามภายใต้ชื่อ ‘โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช: Masterpiece Hospital’ ได้รับเกียรติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นบรรยายบนเวทีเกี่ยวกับหลักสูตร Internal Control for IPO รุ่นที่ 4 จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
โดยคุณดาว – ลภัสรดา บรรยายถึงมิติของการบริหารงาน ระบบการควบคุมภายใน และความสำคัญต่อการบริหารงานและองค์กร สำหรับการ Sharing ได้อย่างชัดเจนใน Part Sharing Experience งาน Internal Control ในธุรกิจโรงพยาบาลศัลยกรรมเสริมความงามครบวงจรรายแรกในตลาดทุน
โดยระบบการควบคุมภายใน นั้นเป็นเครื่องมือในด้านการจัดการประเภทหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารงาน อีกทั้งยังเป็นกลไกขั้นพื้นฐานของกระบวนการกำกับดูแล กิจกรรมต่างๆ ขององค์กรให้ดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์
องค์กรจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมภายในที่ดี ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญ ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและมาตรการการควบคุมขององค์กร โดยระบบควบคุมภายใน ถือเป็นกระบวนการที่รวมไว้หรือเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงาน, ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนภายในองค์กร, ติดตามผลการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ และปรับปรุงมาตรการควบคุมต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
คุณดาว – ลภัสรดา ยังอธิบายถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ก่อให้เกิดระบบการควบคุมภายในที่ดีต้องมี
1. ปัจจัยผลักดัน กล่าวคือ มีวัตถุประสงค์ (Purpose) ชัดเจน, ข้อตกลงร่วมกัน (Commitment), ความสามารถ (Capability), การปฏิบัติการ (Action) และ การเรียนรู้ (Learning) นอกจากนั้นยังต้องมี
2. ปัจจัยเกื้อหนุน กล่าวคือ ผู้บริหารให้ความสำคัญในเรื่องนี้, การประเมินความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ, การจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นระบบอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบและจิตสำนึกของบุคคลทุกระดับ
ทั้งนี้หากแบ่งประเภทการควบคุมภายใน สามารถแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1) การควบคุมแบบป้องกัน (Preventive Control) เป็นการควบคุมเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด ความเสียหาย เช่น การแบ่งแยกหน้าที่การงาน การควบคุมการเข้าถึงทรัพย์สิน เป็นต้น
2) การควบคุมแบบค้นพบ (Detective Control) เป็นการควบคุมเพื่อค้นพบความเสียหาย หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การสอบทานงาน การสอบยืนยันยอด การตรวจนับพัสดุ เป็นต้น
3) การควบคุมแบบแก้ไข (Corrective Control) เป็นวิธีการควบคุมที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง หรือเพื่อหาวิธีแก้ไขไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต
4) การควบคุมแบบส่งเสริม (Directive Control) เป็นวิธีการควบคุมที่ส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น การให้รางวัลแก่ผู้มีผลงานดี เป็นต้น
5) การควบคุมแบบชดเชย (Compensating Control) เป็นวิธีการควบคุมที่กำหนดขึ้น เพื่อชดเชยหรือทดแทนสำรองระบบที่ทำอยู่ เช่น ระบบ Manual ที่สำรองระบบ Computerize เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งสิ้นสร้างประโยชน์อะไรบ้าง ตามหลักการ คุณดาว – ลภัสรดา อธิบายว่า ระบบการควบคุมภายใน เป็นเครื่องมือช่วยผู้บริหารในการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน, การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ, การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดและคุ้มค่า, ข้อมูลและรายงานทางการเงินถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้
ก่อนปิดท้ายด้วย การประยุกต์สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น สู่การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ ถูกต้องเหมาะสม และอยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ย่อมจะช่วยป้องกันโอกาสเสี่ยงที่อาจเกิดความผิดพลาดในการดำเนินงานขององค์กร